กทม. ขึ้นค่าธรรมเนียม ค่าขยะ เริ่ม ต.ค. 68 ชวนคนกรุงแยกขยะ

กทม. เริ่มเก็บค่าขยะอัตราใหม่ ต.ค. 68 นี้! ไม่แยกขยะจ่าย 60 บาท แยกแล้วลดเหลือ 20 บาท ลงทะเบียนผ่านแอปฯ BKK Waste Pay เพื่อสิทธิประโยชน์และร่วมสร้างเมืองสะอาดยั่งยืน

กทม. ขึ้นค่าธรรมเนียม ค่าขยะ เริ่ม ต.ค. 68 ชวนคนกรุงแยกขยะ

กรุงเทพมหานคร เตรียมจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่” เริ่มใช้จริงเดือนตุลาคม 2568 เป็นต้นไป หลังข้อบัญญัติว่าด้วยการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ลดปริมาณขยะต้นทาง พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนร่วมแยกขยะอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่เพียงช่วยสิ่งแวดล้อม แต่ยังลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย ผ่านแคมเปญ “บ้านนี้ไม่เทรวม” และแอปฯ BKK Waste Pay ที่จะเข้ามาช่วยติดตาม-ประเมินการคัดแยกขยะของแต่ละครัวเรือน


ค่าขยะ อัตราใหม่ จ่าย 60 บาท ถ้าไม่แยกขยะ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ระบบค่าธรรมเนียมขยะใหม่นี้ใช้หลักการ “ใครผลิตขยะมาก จ่ายมาก (PAYT Model)” โดย บ้านพักทั่วไปที่ไม่แยกขยะ จะเสีย 60 บาท/เดือน (30 บาท ค่าขน + 30 บาทค่ากำจัด)
แต่ถ้า แยกขยะตามเกณฑ์และลงทะเบียนผ่านแอปฯ จะยังคงเสียค่าธรรมเนียมเดิมเพียง 20 บาท/เดือน เท่านั้น

การแยกขยะจะเน้นให้แยก “ขยะเปียก” (เช่น เศษอาหาร) ออกจาก “ขยะแห้ง” และสามารถขายขยะรีไซเคิลได้เพิ่มเติม ซึ่งนอกจากลดค่าธรรมเนียมแล้วยัง เปลี่ยนขยะเป็นรายได้ ได้จริง ทั้งยังช่วยไม่ให้ขยะเปียกทำให้ขยะแห้งเสียคุณภาพไปด้วย


ค่าธรรมเนียมใหม่ แบ่งตามปริมาณขยะและประเภทผู้ใช้งาน

  1. บ้านพักอาศัยทั่วไป (ไม่เกิน 20 ลิตร/วัน):
    • ไม่แยกขยะ จ่าย 60 บาท/เดือน
    • แยกขยะ + ลงทะเบียน จ่าย 20 บาท/เดือน
  2. สถานที่ผลิตขยะเกิน 20 ลิตร/วัน – 1 ลูกบาศก์เมตร:
    • จ่าย 120 บาท/เดือน ต่อ 20 ลิตร
    • ต้องแยกขยะเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย
  3. สถานที่ผลิตขยะมากกว่า 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน:
    • จ่าย 8,000 บาท/เดือน ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร
    • กำหนดให้สถานที่เหล่านี้มีแผนคัดแยกขยะของตนเอง

อัตราใหม่จะถูกใช้กับทุกประเภทของมูลฝอย รวมถึงขยะติดเชื้อ ขยะอันตราย และไขมันจากร้านอาหาร เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองหลวง


ตั้งเป้าลดขยะวันละ 1,000 ตัน – ประหยัดงบปีละพันล้าน

ปัจจุบัน กทม. ต้องจัดการขยะวันละ 10,000 ตัน ใช้งบประมาณกว่า 7,000–8,000 ล้านบาทต่อปี หากสามารถลดปริมาณขยะได้วันละ 1,000 ตัน ก็จะประหยัดได้ถึงวันละ 2 ล้านบาท โดยข้อมูลระบุว่า ขยะกรุงเทพฯ กว่า 50% คือ เศษอาหาร ซึ่งหากคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง จะช่วยให้ขยะประเภทอื่นเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กทม. ได้เร่งลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชน เพิ่มอัตราการลงทะเบียนใช้งานแอปฯ BKK Waste Pay และนำร่องแจกถุงขยะ-สติกเกอร์ให้ครัวเรือน เพื่ออำนวยความสะดวก พร้อมดึงโรงเรียนในสังกัดกว่า 2.5 แสนคน และภาคีเครือข่ายร่วมมือกันเพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ให้เป็นกระแสสังคม